คุณรู้หรือไม่ว่า…ลูกคุณแตกต่าง? เขาอาจจะเป็นอัจฉริยะนะ ลองมาสังเกตแววดังนี้
ที่มาของภาพ : http://Todays Entrepreneur
ดร.รุ่งเรือง สุขารมณ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงศึกษาธิการ บอกว่า ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการด้านการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษของไทย ได้พยายามพัฒนารูปแบบของการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ (Gifted Education) ให้ ถูกต้องเหมาะสม เป็นไปตามปรัชญา และหลักการมากยิ่งขึ้น ในลักษะของการเรียนร่วมอยู่ในโรงเรียนปกติ โดยมีห้องเรียนพิเศษที่อาจเรียกได้ว่าเป็น Schools in School โดยเริ่มตั้งแต่การวางโครงสร้าง พื้นฐานการทางศึกษา เพื่อให้มีการค้นหา และพัฒนาความสามารถพิเศษตั้งแต่เยาว์วัย และเชื่อมโยงไปจนถึงระดับการศึกษาที่สูงขึ้น โดยให้มีการคัดแยกด้วยวิธีการที่หลากหลายเหมาะสมกับเด็กแต่ละกลุ่ม การปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน การปรับหลักสูตร การพัฒนาสื่อ การวัดผลประเมินผล การจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และอื่น ๆ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพสูงสุดของผู้เรียนแต่ละคนที่มีอยู่
การคัดเลือกเด็กในกลุ่มนี้จึงต้องค้นหา “แวว”ของเด็กแต่ละคนก่อน โดยจะต้องมีการทดสอบ รวบรวมข้อมูล เพื่อประมวลผลแววความสามารถพิเศษ ซึ่งมีทั้งหมด 10 แววด้วยกัน สามารถจำแนก
คุณลักษณะเฉพาะของแต่ละแวว ได้ดังนี้
1. แววผู้นำ เป็นเด็กชอบขบคิด ไม่ยอมจำนนต่อปัญหาอุปสรรคใด ๆ ชอบเป็นผู้นำกลุ่ม มีอารมณ์ขัน ชอบทำงานกับคนกลุ่มมาก ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดี มีมนุษยสัมพันธ์ และควบคุมการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย
2. แววนักคิด เป็นเด็กช่างสังเกต มองเห็นรายละเอียดได้มากกว่าเด็กวัยเดียวกัน จดจำแม่นยำ รวดเร็ว สนใจสิ่งแปลก ๆ ที่ทำให้ผู้ใหญ่ประหลาดใจ ใช้ภาษาได้ดี ไม่ชอบคบ เพื่อนวัยเดียวกัน แต่คบคนที่อายุมากกว่า รู้เกินเด็กวัยเดียวกัน ชอบทำงานคนเดียว คิดสิ่งที่เป็นนามธรรมได้อย่างลึกซึ้งกว่าเด็กวัยเดียวกัน เช่น ความซื่อสัตย์
3. แววสร้างสรรค์ เป็นเด็กไม่ยอมทำกิจกรรมที่ไม่ชอบ ไม่ยอมร่วมมือถ้าไม่เห็นด้วย ชอบทำงานคนเดียว สนใจสิ่งประดิษฐ์ และความคิดใหม่ๆ ไม่หงุดหงิดกับการไร้ระเบียบ หรือสภาพ ที่คนอื่นหงุดหงิดทนไม่ได้ สังเกตรายละเอียดต่าง ๆ ได้ดี มีความคิดอิสระ มีความยืดหยุ่น คิดได้ หลายอย่าง และมีความคิดแปลกใหม่
4. แววนักวิชาการ เป็นเด็กมีสมาธิดี เรียนรู้ได้รวดเร็ว ภาษาดี อ่านหนังสือยาก และเร็วกว่าเด็กวัยเดียวกัน ชอบการเรียนรู้แบบถึงแก่น ชอบซักถาม ชอบเรียนวิชายากๆ สนุกกับการเรียน ชอบทำงานเกินคำสั่งในสิ่งที่สนใจ ชอบวิเคราะห์ตนเอง ประเมินข้อมูล และแก้ไขสถานการณ์
5. แววนักคณิตศาสตร์ เป็นเด็กสนใจศึกษาเกี่ยวกับตัวเลข ปฏิทินเวลา แผนภูมิ มิติเวลา หมกมุ่นครุ่นคิดมีวิธีแปลกใหม่ในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ มีจินตนาการ ชอบตั้งคำถามที่เป็นเหตุเป็นผล มีความสามารถในการแก้ปัญหาได้หลายวิธีทางคณิตศาสตร์ และเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ เข้ามา เกี่ยวข้องกับเรื่องคณิตศาสตร์ได้
6. แววนักวิทยาศาสตร์เป็นเด็กกระหายใคร่รู้ในสิ่งต่าง ๆ ว่าทำได้อย่างไร ชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ ชอบเฝ้าดู จับต้อง ดม มองเห็นความเชื่อมโยงของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ชอบทำงานที่ต้องลงมือปฏิบัติ ทดลอง ชอบวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่าง ๆ อย่างมีเหตุผล
7. แววนักภาษาเป็นเด็กพูดอ่านเขียนเร็ว มีภาษาก้าวหน้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน ชอบท่องจำ อ่านโคลงกลอน พกหนังสือติดตัวไปทุกที่ ชอบแต่งเรื่องเขียนเรื่อง มีภาษาพูด เขียน สละสลวยงดงามกว่าเด็กวัยเดียวกัน เข้าใจเรื่องที่อ่านอย่างถ่องแท้ วิจารณ์เชิงสร้างสรรค์จากเรื่องที่อ่านได้ ใช้ภาษาสร้างจินตนาการได้
8. แววนักกีฬาเป็นเด็กสนุกสนานกับการเคลื่อนไหว ออกกำลัง ปีนป่าย ใช้เวลาว่างเล่นกีฬา มีสมาธิในการเล่นกีฬาได้แม้มีเสียงรบกวน ชอบคิดวิธีใหม่ๆ มาใช้เล่นกีฬา สามารถควบคุมความสมดุลของร่างกายได้อย่างโดดเด่น และมีสภาพร่างกายที่เหมาะสม เช่น ช่วงขาแข็งแรง
9. แววนักดนตรีเป็นเด็กใช้เวลาว่างกับกิจกรรมด้านดนตรี อยากมีอาชีพเกี่ยวกับดนตรี เช่น เป็นนักดนตรี นักแต่งเพลง มีความไวต่อเสียง แยกแยะความแตกต่างของเสียงได้ ชอบการวิเคราะห์เพลงว่าดี-ไม่ดี
10. แววนักศิลปินเป็นเด็กสนใจศิลปะ ใช้เวลาว่างวาดภาพ ขีดเขียน มีสมาธินานกับศิลปะ มีความสุขกับงานศิลปะ อยากมีอาชีพทางศิลปะ มีประสาทสัมผัส มือ ตา ดี มีทักษะสามารถใช้กริยา ท่าทางสื่ออารมณ์ได้ดี
“เด็กที่ผ่านกระบวนการทดสอบ หากมีความโดดเด่นในแววต่าง ๆ 8 ใน 10 แวว จะถือได้ว่าเป็น “เด็กอัจฉริยะ” ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการก็จะมีวิธีการที่จะคัดเด็กๆเหล่านี้ไป เพื่อการพัฒนาต่อไป”
โดย
ดร.อรพินท์ สพโชคชัย ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพ และนวัตกรรมการเรียนรู้ (สสอน.)–ผู้จัดการรายสัปดาห์
You must be logged in to post a comment.